ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

โครงงานเรื่อง โรคไข้เลือดออก




จัดทำโดย

นางสาวฤดีรัชย์  โถทอง

นางสาววราลักษณ์  จำรัสแนว

นางสาวชยาทิพย์  สกุลวสุพันธุ์

ชั้นม.6/9  โรงเรียนพรตพิทยพยัต







บทที่ 1
ที่มาและความสำคัญ


    ปัจจุบันโรคไข้เลือดออก ที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในเอเชียอาคเนย์เกิดจากไวรัส dengue จึงเรียกชื่อว่า Dengue hemorrhagic fever (DHF) ซึ่งนับว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

   กลุ่มของข้าพเจ้าจึงเห็นความสำคัญที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ที่ศึกษาและสนใจ เกี่ยวกับการให้ความรู้ของผู้รู้ในการแก้ปัญหา แนะนำวิธีการแก้ปัญหา รวมถึงวิธีการสาธิตให้แก่ชาวบ้านได้เห็น และ ปฏิบัติตามได้ถูกต้องและถูกวิธี การแก้ปัญหาโดยที่คว่ำภาชนะที่ถูกน้ำขัง เพราะจะมีการวางไข่ที่เกิดจากยุงลาย การนอนควรกลางมุ้งในตอนกลางวัน เพราะพวกยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน เด็ก ๆ ควรที่จะระมัดระวังอย่างมากในการนอน การใส่ทรายลงในน้ำเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การรณรงค์ป้องกัน เพื่อช่วยปลูกจิตสำนึกในการป้องกัน แก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ถ้าประชาชนไม่ได้รับการวินิจฉัยและการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ประชาชนไม่สามารถรู้วิธีการป้องกันได้อย่างถูกต้อง และอาจจะหลงผิดในการแก้ปัญหาที่ผิดวิธี เมื่อเกิดปัญหาแล้วจะทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต





วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก
2.เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก

ขอบเขตของโครงงาน
1.ศึกษาสาเหตุการเกิดโรคไข้เลือดออก
2.ศึกษาวิธีการป้องกัน และรักษาการเกิดโรคไข้เลือดออก

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.ผู้ที่เข้ามาศึกษาโครงงานโรคไข้เลือดออกจะได้รับความรู้โรคไข้เลือดออก
2.ทำให้รู้จักวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างถูกต้อง
3.ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ








บทที่ 2
แนวคิด ทฤษฎี และเอกสารที่เกี่ยวข้อง



   โรคไข้เลือดเป็นโรคจากการเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue) โดยมีพาหะเป็นยุงลายตัวเมีย โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับหลายคน เพราะมีความอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ความจริงแล้วโรคนี้จะไม่มีความอันตรายถึงตายหากรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาทัน ฉะนั้นจึงต้องสังเกตอาการเริ่มแรกให้ได้ เพื่อแยกแยะความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่กับไข้เลือดออก
   เชื้อเด็งกี่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี-1, เดงกี-2, เดงกี-3 และเดงกี-4 ใครที่ได้รับเชื้อไวรัสไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็สามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้ทั้งนั้น ซึ่งมีโรคไข้เลือดออกเป็นการติดเชื้อแบบรุนแรงที่สุด หากร่างกายติดเชื้อจากสายพันธุ์ใดร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้น แปลว่าเราจะไม่ติดเชื้อจากสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่จะมีโอกาสติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นได้ นี่จึงเป็นที่มาของ วัคซีนโรคไข้เลือดออก   










1. แหล่งที่อยู่ยุงลาย
   ยุงลายจะพบมากในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุงชนิดนี้จะพบมากในเขตชุมชนโดยเฉพาะในถิ่นที่แออัด เนื่องจากมีแหล่งน้ำให้ยุงแพร่พันธุ์ แต่ในชนบทโดยเฉพาะที่เริ่มแออัดก็จะพบว่ามียุงลายเพิ่มมากขึ้น ความกดอากาศก็มีผลต่อความเป็นอยู่ของยุง พบว่าในพื้นที่ระดับสูงกว่าน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตรจะมีความหนาแน่นของยุงมาก แต่ในพื้นที่เป็นภูเขาจะพบยุงชนิดนี้น้อย
                                                                                                                                                                                                   
2.  การสืบพันธุ์ยุงลาย
   ตัวเมียจะวางไข้ในน้ำ ถ้าอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมจะเป็นตัวอ่อนในไข่ในเวลา 48 ชั่วโมง และไข่ที่มีตัวอ่อนจะอยู่ได้เป็นปี เมื่อสภาแวดล้อมเหมาะสมจึงออกมาเป็นตัวอ่อน เมื่อตัวอ่อนออกจากไข้จะใช้เวลา 8 วันจนกลายเป็นยุง แต่หากสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมอาจจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุงส่วนใหญ่จะวางไข่ในแหล่งกักน้ำ เช่น กะละ กระป๋อง ยางรถเก่า ถังเก็บน้ำ แก้วรองขาโต๊ะ แจกันเป็นต้น

3. การติดต่อของโรคไข้เลือดออก
   ไวรัสเดงกีที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกสามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มจำนวนภายในตัวของยุงลาย ยุงลายจึงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และกล่าวได้ว่าโรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน ยุงลายที่เป็นพาหะนี้มีชื่อว่า Aedes aegypti ยุงชนิดนี้ออกหากินเวลากลางวัน ยุงจะกัดและดูดเลือดที่มีเชื้อไวรัสเดงกีจากผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้เลือดออก เมื่อยุงลายไปกัดคนใหม่ ก็จะถ่ายทอดเชื้อให้กับคนที่ถูกยุงกัดต่อไป ยุงชนิดนี้อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ประเทศไทยจึงเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยพบการระบาดมากที่สุดในฤดูฝน ช่วงอายุของคนที่พบว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ คนอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี และ อายุ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนช่วงอายุ 0-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนน้อยที่สุด



4. อาการของโรคไข้เลือดออก


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาการไข้เลือดออก


   อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด กล่าวคือ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด (Touniquet test) จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ โดยอาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที



ลักษณะตุ่มไข้เลือดออก

   ตุ่มโรคไข้เลือดออกจะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัด แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน
   ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา





ไข้เลือดออกจะมี 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ไข้จะสูงค้างอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา โดยที่กินยาลดไข้ก็ยังบรรเทาไข้ไม่ไดร่วมกับอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และบางรายมีอาการอาเจียนเป็นพัก ๆ หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว และบางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ไอเล็กน้อย ทว่าในระยะ 3 วันที่ป่วยตุ่มอาจยังไม่ขึ้นให้เห็นชัด ๆ

ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก
อาการนี้จะพบในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของการป่วย และมักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ป่วยจากเชื้อเดงกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 ซึ่งระยะนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตของโรค อาการไข้ของผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่กลับอาเจียน ปวดท้องบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น ตัวเย็น มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นแผ่วแต่เร็ว และความดันต่ำ ซึ่งเป็นภาวะช็อก และหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1-2 วัน อาจทำให้เสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือสีกาแฟ ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งหากอยู่ในภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น โดยหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตภายใน 24-27 ชั่วโมง แต่หากผู้ป่วยสามารถประคองอาการให้ผ่านพ้นระยะนี้มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคไข้เลือดออก

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว
 ใช้ยางหนังสติ๊กรัดเหนือข้อศอกให้แน่นเล็กน้อย ให้พอคลำชีพจรที่ข้อมือได้ รัดอยู่อย่างนั้นนาน 5 นาที และลองเอาเหรียญบาทกดทับที่บริเวณท้องแขน หากพบว่ามีจุดเลือดออก (จุดแดง) เกิดขึ้นที่บริเวณท้องแขนในตําแหน่งที่ใช้เหรียญกดทับเป็นจํานวนมากกว่า 10 จุด ก็นับว่าเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกสูงมาก ยิ่งถ้าหากมีไข้มาแล้ว 2 วัน ความเสี่ยงของโรคจะอยู่ประมาณ 80% เลยทีเดียว


5. การรักษาและการป้องกันโรคไข้เลือดออก

   โรคไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้

                1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร
                2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออก มักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือมีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด
                3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
                4. ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย


1. การป้องกันทางกายภาพ ได้แก่

   - ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิด เช่น มีผาปิดปากโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือถ้าไม่มีฝาปิด ก็วางคว่ำลงหากยังไม่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลาย
   - เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อยๆ อย่างน้อยทุกๆ 7 วัน
   - ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม ภาชนะละ 2-4 ตัว รวมถึงอ่างบัวและตู้ปลาก็ควรมีปลากินลูกน้ำเพื่อคอยควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายเช่นกัน
   - ใส่เกลือลงน้ำในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่เกลือ 2 ช้อนชา ต่อความจุ 250 มิลลิลิตร พบว่าสามารถควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน

2. การป้องกันทางเคมี ได้แก่

   - เติมทรายทีมีฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้และรับรองความปลอดภัย เหมาะสมกับภาชนะที่ไม่สามารถใส่ปลากินลูกน้ำได้
   - การพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีข้อดีคือ ประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง ควรเลือกฉีดในเวลาที่มีคนอยู่น้อยที่สุดและฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ท่อระบายน้ำ กระถางต้นไม้ เป็นต้น
   - การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมี 2 ชนิด คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (DEET, diethyltoluamide) เป็นต้น เมื่อก่อนมียาฆ่ายุงด้วย มีชื่อว่า ดีดีที แต่สารนี้ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้วเนื่องจากเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก อย่างไรก็ตาม สารเคมีไม่ว่าจากยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุง ก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นห้ามฉีดลงบนผิวหนัง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด

3. การปฏิบัติตัว ได้แก่

   - นอนในมุ้ง หรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน
   - หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิวซึ่งมีสาระสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of eucalyptus) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ามาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า DEET





6. อาหารที่รับประทานและไม่ควรรับประทานถ้าเป็นโรคไข้เลือดออก

อาหารที่รับประธานได้
   ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสและฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว โดยอาหารที่ควรรับประทานคือ ผักใบเขียว ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะนาว ส้ม เลม่อน หรือเกรปฟรุต เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น และควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงด้วย เพื่อให้มีเรี่ยวแรงและสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดี
          นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก น้ำผัก หรือน้ำผลไม้ แต่ทั้งนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือการดื่มน้ำ เพราะการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออกมาได้มากขึ้นนั่นเอง

อาหารที่รับประทานไม่ได้
   นอกจากจะควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ แล้ว ผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นก็ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ประเภทอาหารทอด หรือผัด และไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดเพราะอาจจะทำให้แสบท้องและเกิดเลือดออกในกระเพาะได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาล เพราะสีของอาหารอาจจะทำให้การสังเกตอาการเลือดออกในปัสสาวะและอุจจาระเป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย


โครงงานที่เกี่ยวข้อง

   โครงงานคอมพิวเตอร์ เป็นกิจกรรมอิสระที่ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาตามความสนใจโดยใช้ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ของผู้เรียนด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในการแก้ปัญหาต่างๆ ผู้เรียนจะต้องว่างแผนดำเนินงาน ศึกษา พัฒนาโปรแกรม หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

      กิจกรรม ที่จัดว่าเป็นองค์ประกอบ หลักดังนี้
     1. เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์และเครื่องคอมพิวเตอร์
     2. ผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่มและเลือกเรื่องที่จะศึกษา ค้นคว้า พัฒนา เก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ
     3. ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนในการศึกษา สรุป และเสนอผลการศึกษาด้วยตนเอง โดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษา


ทฤษฎีบท

   นักวิจัยไทยคิดค้นวิธีการทำหมันยุงลายสำเร็จ ครั้งแรกของโลก ช่วยควบคุมปริมาณยุง ป้องกันโรคไข้เลือดออก-ไข้ชิคุนกุนยา เตรียมนำเสนอในเวทีประชุมระดับโลก เป็นต้นแบบให้นานาชาติ
   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 รศ.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะ และโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความสำเร็จในการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกำจัดยุงลาย โดยการนำแบคทีเรียของยุงลายสวนและยุงรำคาญ มาพัฒนาและใส่ลงไปในยุงลายบ้าน ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะมีความต้านทานต่อโรคไข้เลือดออก ก่อนนำมาฉายรังสีเพื่อทำให้ยุงตัวผู้เป็นหมัน ป้องกันการเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายเหล่านี้

   โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเพาะเพิ่มจำนวนให้มากพอ และจากนี้ภายใน 2-3 เดือน จะนำยุงที่พัฒนาแล้วซึ่งมีชื่อว่า "TH AB" ไปปล่อยในพื้นที่นำร่อง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้ยุง TH AB ไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่เป็นยุงลายบ้านทั่วไป เพื่อควบคุมปริมาณยุงลาย ทั้งยังเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือกระทบต่อระบบนิเวศจนเกิดยุงลายสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรม เพียงแค่ใช้เทคนิคทางชีวภาพเท่านั้น
 และยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จในครั้งนี้จะได้รับการนำเสนอในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ ในงานประชุมควบคุมโรคที่ประเทศบราซิล ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งได้มีการเชิญทีมวิจัยไปด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่น ๆ นำไปควบคุมปริมาณยุงต่อไป ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่เราพัฒนาสายพันธุ์ยุงให้ป้องกันไข้เลือดออก รวมถึงไข้ชิคุนกุนยาได้ ส่วนซิกาในหลักการน่าจะควบคุมได้ แต่จะศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง



ความแตกต่างของไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก


 à¸„วามแตกต่างของ ไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก





วัคซีนไข้เลือดออก

ทำความรู้จักกับวัคซีนโรคไข้เลือดออก
   วัคซีนโรคไข้เลือดออกรู้จักกันดีในชื่อ CYD-TDV เป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดแรกและชนิดเดียวที่ผ่านการศึกษาวิจัย ทั้งในด้านของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และได้ขึ้นทะเบียนใช้แล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
วัคซีน CYD-TDV หรือชื่อเต็ม Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine มีประสิทธิภาพสูงใน   การป้องกันไข้เลือดออกเด็งกีทั้ง 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกีได้ทุกสายพันธุ์ถึง 65 % เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเด็งกีครบ 3 เข็มจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นผู้ป่วยไข้เลือดออกในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ยังมีข้อควรระวังในการใช้

ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน CYD-TDV
   วัคซีน CYD-TDV เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเด็งกี 4 สายพันธุ์ก็จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นในแต่ละรายอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันแตกต่างกันไป เช่น ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเด็งกีสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ได้ดีมาก แต่สายพันธุ์ที่ 1 และ 2 อาจส่งผลไม่ดีนัก
-             เป็นวัคซีนที่เหมาะสำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว เพราะจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงมาก แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน วัคซีนชนิดนี้มีเชื้อไวรัสเด็งกีทั้ง 4 ประเภทซึ่งถูกทำให้มีฤทธิ์อย่างอ่อนก่อนนำเข้าสู่ร่างกาย หลักการทำงานของวัคซีนนี้คือเมื่อร่างกายได้รับแล้วก็จะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้น ๆ และทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีก แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยป่วยแล้วฉีดวัคซีนอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าเดิม ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นจึงไม่ควรฉีดประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันโรคในผู้ที่มีอายุ 9 – 45 ปี ผู้ที่อายุน้อยกว่านี้ไม่ควรฉีดเพราะยาจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
-            วัคซีนนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็ยังมีราคาค่อนข้างสูง เข็มละประมาณ 3,000 บาท และต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยระยะเวลาที่ฉีดคือ เดือนที่ 1, 6 และ 12
-             ผลข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนมีน้อย อาจจะมีไข้หรือเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนทั่วไป การวิจัยยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง เพียงแต่ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกยังไม่ควรฉีดเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

   ปัจจุบันมีให้บริการที่บางโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกตามตัวเมือง จากการวิจัยพบว่าเมื่อถูกยุงกัดและเป็นไข้เลือดออกตามธรรมชาติ วัคซีนนี้สามารถลดความรุนแรงของการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกในอนาคต แถมยังลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้กว่า 80% ถึงแม้ปัจจุบันประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณ 65% ซึ่งอาจดูไม่สูงนัก เพราะวัคซีนนี้ใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยยาวนานมากกว่า 50 ปี เป็นเพราะมีความยากลำบากในทางเทคนิคหลายประการ อย่างไรก็ตามก็ยังมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป





คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก

-                 วัคซีนไข้เลือดออก ถ้าเป็นแล้วควรจะฉีดอีกไหมคะ
คำตอบ: สามารถฉีดได้ค่ะ เพราะไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกีซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ค่ะ สามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ผู้ป่วยยังไม่เคยติดได้ แต่วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่สามารถป้องกันได้ 100 % อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ และยังสามารถลดอัตราการป่วยมีภาวะเลือดออกรุนแรงจากไวรัสเด็งกีได้ โดยวัคซีนนี้ทำมาจากเชื้อไวรัสเด็งกีที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน และอายุของผู้ได้รับวัคซีนค่ะ - ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)


-                   แพ้ยุง ต้องฉีดยาเผื่อไข้เลือดออกไหม
คำตอบ: อาการแพ้ยุงกับไข้เลือดออกไม่เหมือนกันครับ จึงไม่จำเป็นต้องฉีดยาครับ และถึงแม้จะเป็นไข้เลือดออกก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยาครับ ควรกินยาแก้แพ้หรือใช้ยาทาเอาครับ - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)


-                   คนที่ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกมีสิทธิ์เป็นไข้เลือดออกไหมคะ
คำตอบ: มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้อยู่ค่ะ เพราะวัคซีนไข้เลือดออกยังไม่สามารถป้องกันได้ 100 % สามารถป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65ค่ะ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ และยังสามารถลดอัตราการป่วยมีภาวะเลือดออกรุนแรงจากไวรัสเด็งกีได้ โดยวัคซีนนี้ทำมาจากเชื้อไวรัสเด็งกีที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน และอายุของผู้ได้รับวัคซีน ค่ะ - ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)
คำตอบ 2: การฉีดวัคซีนไข้เลือดออก สามารถป้องกันการเป็นไข้เลือดออกยังไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ แต่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ ของไข้เลือดออก แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันแต่ละสายพันธุ์ไม่เท่ากันด้วยครับ โอกาสที่จะเป็นไข้เลือดออกก็ยังเป็นได้อยู่ครับ แต่อาการและความรุนแรงที่เป็นจะน้อยกว่าปกติครับ - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)


-                   ไข้เลือดออกยังไม่แสดงอาการ ให้น้ำเกลือก่อนจะหายไหม
คำตอบ: การให้สารน้ำเพิ่มเติมที่ปลอดภัยที่สุดคือการรับประทานน้ำเกลือแร่ทางปากเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำครับ ส่วนการให้ทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ซึ่งการให้มากหรือน้อยเกินไปก็อาจส่งผลให้ผู่ป่วยมีอาการแย่ลงได้ - ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)
คำตอบ 2: การรักษาไข้เลือดออกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ ขึ้นอยู่กับสภาวะหลาย ๆ อย่าง โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเองครับ - ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)
คำตอบ 3: อาการของไข้เลือดออก ถ้ายังกินอาหารได้ ไม่ซึม สัญญาณชีพปกติ ไม่มีเลือดออก ก็อาจจะยังไม่ต้องให้น้ำเกลือครับ เพราะว่าถ้าให้ไปก่อน เวลามีอาการช็อกหรือสัญญาณชีพต่ำ อาจจะทำให้น้ำเกิน มีน้ำท่วมปอดได้ครับ - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)


-                   ถ้าเคยเป็นไข้เลือดออกแล้วจะเป็นซ้ำอีกไหม
คำตอบ: เป็นซ้ำได้ค่ะเพราะเชื้อไข้เลือดออกมีหลายสายพันธุ์ เป็นแล้วจะไม่เป็นสายพันธุ์เดิมค่ะ - ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)
คำตอบ 2: สามารถเป็นได้อีกค่ะ เพราะว่าไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อเด็งกี ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ค่ะ หากเราเคยเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดจะมีภูมิแค่สายพันธุ์นั้นค่ะ สามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้อีกอีกสามสายพันธุ์ค่ะ - ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.)
คำตอบ 3: สามารถเป็นอีกได้ครับ เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการรับเชื้อนั้นจะมีอยู่สูงระยะหนึ่งเท่านั้น จึงสามารถรับเชื้อได้อีก และมีอาการได้อีกครับแต่ไม่น่าจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งในปีเดียวกัน - ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)


-                   แล้วผื่นตุ่มไข้เลือดออกกี่วันถึงจะหายคันและหายไปคะ ?
คำตอบ: ส่วนใหญ่ผื่นจากไข้เลือดออกมักจะขึ้นหลังจากไข้ลดลงแล้ว ส่วนใหญ่ผื่นจะคันเล็กน้อยและหายเองได้ภายใน 2-3 วันค่ะ - ตอบโดย Buakhao Arpaporn (พญ.)
คำตอบ 2: ผื่นจากไข้เลือดออกมีได้ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะไข้สูง เป็นในระยะไข้วันที่ 3 ซึ่งผื่นประเภทนี้อาจไม่คันจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน และอีกระยะหนึ่งคือระยะพักฟื้น ซึ่งผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะเป็นจุดขาวบนรอยปื้นแดง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการคันและเจ็บ แต่อาจพบอาการคันได้ ซึ่งผื่นจะหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ค่ะ - ตอบโดย สุนิสา โพธิ์พันธ์ (พว.)







วิธีดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

1.ในช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้พร้อมกัน โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาลดไข้ และควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายเสียการทำงาน อีกทั้งยังทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกมาได้ง่ายขึ้น
2.ควรชดเชยน้ำให้แก่ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้และมีอาการเบื่ออาหาร รวมทั้งอาเจียน จึงทำให้ขาดน้ำในปริมาณมาก ดังนั้นจึงควรชดเชยน้ำด้วยการให้ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
3.หมั่นติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
4.ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดยุง ควรมีมุ้งลวดหรือกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงและการแพร่ระบาดของโรค
5.ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
6.ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน
7.ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ให้มากพอ โดยสังเกตที่สีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน หากปัสสาวะสีเข้ม ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
8.เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น ควรรักษาอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยไม่ให้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส กรณีที่มีไข้ ห้ามเช็ดตัวหรืออาบน้ำด้วยน้ำเย็น เพราะผู้ป่วยอาจสั่นได้
9.ควรกินยาลดไข้พาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง เพราะหากรับยาเกินขนาดอาจทำให้ตับอักเสบได้
10.ห้ามให้ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDS เด็ดขาด เนื่องจากยาทั้ง 2 ตัวต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด อาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกได้
11.ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ งดใช้ยากลุ่มปฏิชีวนะ เพราะเชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออกไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย จึงไม่จำเป็นกับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลย
12.ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และรสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม หรือแกงจืด เป็นต้น
13.ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาล เพราะเวลาปัสสาวะและอุจจาระอาจสังเกตได้ยากกว่าสิ่งที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมามีเลือดปนมาด้วย

**ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่ต้องระวังไข้เลือดออก เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายออกอาละวาดหนัก ทุกคนควรป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างจากยุงลายให้มากที่สุด**


หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น มีไข้สูงต่อเนื่อง และมีอาการเตือนที่รุนแรง ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งอาการจะมีดังนี้

-                   ผู้ป่วยมีอาการซึมหรืออ่อนเพลียมากขึ้น
-                   ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
-                   มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนตลอดเวลา
-                   มีอาการปวดท้องมาก
-                   เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน
-                   ผู้ป่วยปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลยในระยะ 4-6 ชั่วโมง
-                   ผู้ป่วยกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา
-                   กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือเอะอะโวยวาย
-                   หากเป็นคนไข้เด็กอาจร้องกวนตลอดเวลา
-                   มีอาการตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ตัวลาย ซึ่งในขั้นนี้อาจช็อกได้




 à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ ป้องกันไข้เลือดออก







บทที่ 3
วิธีการดำเนินงาน



โปรแกรมที่ใช้ในการทำโครงงาน
1.โปรแกรม Microsoft Word 2010
2. เว็บไซต์  http://www.blogger.com/

วิธีการดำเนินงาน
1. กำหนดหัวข้อที่จะศึกษา                 
2. ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษาคือโรคไข้เลือดออก
3. ศึกษาการสร้างเว็บบล็อกเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องไข้เลือดออก
4. จัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์เรื่องโรคไข้เลือดออก และนำเสนอผ่านเว็บบล็อก



วิธีการสร้างเว็บบล็อก
     
ขั้นตอนที่ 1  เข้าไปที่เว็บ http://www.blogger.com จะขึ้นหน้าจอตามรูป

 

ขั้นตอนที่ 2 ทำการสมัคร (สำหรับบุคคลที่ยังไม่มี Gmail ) ถ้ามีแล้วให้ล๊อกอินได้เลย
 



ขั้นตอนที่ 3 ให้กรอกข้อมูลตามความเป็นจริง
  


ขั้นตอนที่ 4  คลิกที่ปุ่มสร้างบล็อกใหม่ตามรูป
 



ขั้นตอนที่ 5  พอคลิกแล้วจะขึ้นตามรูป จากนั้นให้กรอกข้อมูลลงไปแล้วเลือกแม่แบบตามใจชอบ
 


ขั้นตอนที่ 6 คลิกปุ่มตามรูป

 



ขั้นตอนที่ 7 ใส่ข้อมูลต่างๆ
 



ขั้นตอนที่ 8 คลิกปุ่ม "แสดงตัวอย่าง" แล้วกดบันทึกเป็นอันเสร็จสิ้น











บทที่ 4
ผลการศึกษา



   จากการศึกษาโรคไข้เลือดออกพบว่าโรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลายบ้านตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เชื้อไวรัสแดงกีจะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8-10 วัน เชื้อไวรัสแดงกีจะไปที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงกัดคนก็จะแพร่เชื้อสู่คน เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วันในช่วงที่มีไข้ หากยุงกัดคนในช่วงนี้ก็จะรับเชื้อไวรัสมาแพร่ให้กับคนอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็ก โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวัน   
   การป้องกัน : แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันนี้ คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลงซึ่งทำได้โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและการกำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำและตัวเต็มวัย และป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด








บทที่ 5
สรุปผลการศึกษา


สรุปผล

   จากการทำโครงงานพบว่าโรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันนี้ ยังไม่มียาต้านไวรัส ที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก และไม่มีวัคซีนป้องกัน การรักษาโรคนี้ เป็นแบบการรักษาตามอาการ และประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดี ถ้าให้การวินิจฉัยโรค ได้ตั้งแต่ระยะแรก

อภิปรายผล

   โรคไข้เลือดออกจากการทำโครงงานปรากฏว่า ปัญหาโรคไข้เลือดออกสามารถรักษาได้ ถ้าเราสามารถรู้วิธีการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการไข้เลือดออกได้อย่างปลอดภัย เราสามารถดูเเลผู้ป่วยได้ถ้าเราศึกษาหรืออ่านคู่มือจากการทำโครงงานของกลุ่มเรา หรือไม่ ก็มีผู้รู้มาคอยช่วยเหลือ ให้คำเเนะนำ เเละ ปฏิบัติลงมือสาธิตให้ดู  ในการศึกษาโครงงานไข้เลือดออกที่มีผู้ได้คิดค้นทดลองไว้ลอง ได้นำกลัลมาค้นคว้าเพิ่มเติมใหม่ ให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีวิธีการรักษา การป้องกัน รวมถึง การเเนะนำวิธีการกำจัดเเหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ไม่ให้มีลูกน้ำ กรือ กำจัดการวางไข่ของยุงลายให้สิ้นไป เพื่อกำจัดปัญหาตั้งเเต่ต้น เพื่อไม่ให้เป็นโรคระบาดไปทั่ว เเละป้องกันภัยอันตรายจากยุงลาย ทำให้เราทุกคนรอดพ้นจากปัญหาวิกฤตการณ์ที่เลวร้าย ต่อชีวิตของพวกเรา ต่ออนาคตอันเเสนกว้างไกลของเด็กที่เป็นเยาวชนของประทศที่เมื่อเติบโตไปจะสามารถพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน เจริญก้าวหน้าได้ ลดการเสียชีวิตจากสถิติการเกิดโรคไข้เลือดออกของชาติ

ปัญหาและอุปสรรค
การรวบรวมข้อมูลต้องหาจากหลายๆเว็บไซต์เพื่อความถูกต้อง

ข้อเสนอแนะ
การนำเสนอโครงงานในเว็บไซต์ควรทำให้น่าสนใจมากกว่านี้ และเพิ่มเนื้อหา ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้ที่เข้ามาศึกษาโครงงานโรคไข้เลือดออกจะได้รับความรู้โรคไข้เลือดออก             
2. ทำให้รู้จักวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก          
3. ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ


ความคิดเห็น